[Review] ยื่นวีซ่า Schengen (Sweden)…ไม่ยาก !!

ทริปนี้เราวางแผนที่จะไปเที่ยวเดนมาร์คและสวีเดนครับ โดยขึ้นเครื่องไปลงที่ Copenhagen แล้วเที่ยวที่นั่น 2 วัน จากนั้นนั่งรถไฟข้ามไป Stockholm และเที่ยวในสวีเดนอีก 7 วัน รวมเป็น 9 วัน แล้วก็กลับเมืองไทยจากสนามบิน Stockholm กรณีนี้เราต้องของวีซ่าเชงเก้น (Schengen) ของ Sweden ครับ เพราะเราอยู่ที่นั่นนานกว่า

ผมขอพูดถึงหลักเกณฑ์การขอวีซ่า Schengen ก่อนครับ เพื่อเป็นแนวทางว่าเราควรขอวีซ่ากับประเทศไหน

  • หากไปประเทศกลุ่ม Schengen เพียงประเทศเดียว ก็ขอของประเทศนั้นเลย
  • หากไปมากกว่าหนึ่งประเทศ ต้องขอจากประเทศที่เราไปพำนักนานที่สุด แต่หากพำนักแต่ละประเทศด้วยจำนวนวันที่เท่ากันก็ให้ขอจากประเทศแรกที่เราจะเข้าเขตเชงเก้น

ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถศึกษาได้จากลิงค์นี้ครับ https://www.schengenvisainfo.com/how-to-apply-schengen-visa

ข้อมูลอัพเดตล่าสุดคือ ผู้เดินทางสามารถขอวีซ่าเชงเก้นได้ล่วงหน้าสูงสุด 180 วันก่อนเดินทาง โดยวีซ่าเชงเก้นสวีเดนในประเทศไทยสามารถยื่นได้ที่ VFS Global

เมื่อเราวางแผนท่องเที่ยวทุกอย่างพร้อมแล้ว เราก็มาเข้าสู่ขั้นตอนการยื่นขอวีซ่าเชงเก้นกันเลย โดยผมขอแบ่งเป็นขั้นตอนหลักตามนี้ครับ

.

1. จัดเตรียมเอกสารที่จะใช้ยื่นวีซ่า

ขั้นตอนนี้ถือว่าสำคัญที่สุด เพราะเอกสารทั้งหมดจะเป็นตัวยืนยันว่าเรามีคุณสมบัติพร้อมที่จะได้รับวีซ่าตามจำนวนวันที่เราขอหรือไม่ โดยเราจะต้องแสดงหลักฐานให้ทางเจ้าหน้าที่สถานทูตเชื่อถือว่า เรามีวัตถุประสงค์เพื่อท่องเที่ยวจริง มีกำลังทรัพย์เพียงพอ และมีความสัมพันธ์ที่ผูกมัดกับประเทศไทยที่ทำให้มีน้ำหนักพอว่าเราจะไม่โดดวีซ่า (ตาม Social Media แนะนำว่า “ขอจำนวนวันมากโอกาสได้น้อย ขอจำนวนวันน้อยโอกาสได้มาก” 🙂 ) โดยเอกสารที่ต้องใช้มีดังต่อไปนี้

  • Checklist ของเอกสารที่ต้องใช้สามารถดาวน์โหลดได้จากที่นี่ (ให้พิมพ์ออกมา กรอกข้อมูลให้ครบ ติ๊กช่องเอกสารที่เราใช้ยื่นทั้งหมด และเซนต์ชื่อกำกับให้เรียบร้อย)

.

.

  • แบบฟอร์มขอวีซ่าเชงเก้น (ดาวน์โหลดจากที่นี่) กรอกข้อมูลให้เรียบร้อยเป็นภาษาอังกฤษ โดยข้อมูลทั้งหมดต้องตรงกับเอกสารการเดินทางของเรา (สามารถทำได้ทั้งพิมพ์ในไฟล์โดยตรงหรือเขียนด้วยปากกา)

.

.

.

.

.

.

  • รูปถ่ายขนาด 3.5 x 4.5 cm พื้นหลังขาว อายุไม่เกิน 6 เดือน (บอกร้านถ่ายรูปว่าจะเอาไปทำวีซ่าเชงเก้น) : ดูคำแนะนำและตัวอย่างรูปที่ถูกต้องจากที่นี่
  • พาสปอร์ตตัวจริงที่มีอายุไม่น้อยกว่า 3 เดือนนับจากวันที่จะเดินทางออกจากเขตเชงเก้น และต้องมีจำหนวนหน้าว่างคงเหลืออย่างน้อย 2 หน้า
  • สำเนาพาสปอร์ตหน้าแรกที่มีรูปถ่ายเรา 2 แผ่น พร้อมรับรองสำเนา Certified True Copy
  • ประกันการเดินทางต่างประเทศที่ครอบคลุมเขตเชงเก้นและมีวงเงินคุ้มครองในกรมธรรม์ไม่น้อยกว่า 30,000 EUR (1,500,000 บาท) : ลองเทียบจากเว็บไซต์เปรียบเทียบราคาประกันภัยของ TQM หรือ Gettgo หรือซื้อจากที่เราสะดวก
  • หลักฐานการเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล (ถ้ามี)
  • หนังสือรับรองการทำงานจากนายจ้าง พร้อมระบุชื่อ ตำแหน่ง รายรับ และจำนวนวันที่อนุมัติให้ลาหยุด (กรณีเป็นลูกจ้าง)
  • หลักฐานแสดงการเป็นเจ้าของกิจการหรือหนังสือจดทะเบียนบริษัท (กรณีเป็นเจ้าของกิจการ หรือ ทำงานฟรีแลนซ์)
  • หากผู้สมัครเป็นผู้เยาว์ต้องแสดงใบแจ้งเกิดและหลักฐานของผู้ปกครองด้วย
  • ใบจองโรงแรมคลอบคลุมทุกคืนตลอดทั้งทริป : จองแบบ Pay Later หรือ Free Cancellation ในเว็บ Agoda.com หรือ Booking.com ได้
  • แผนการเดินทางตลอดทั้งทริป ควรระบุว่าแต่ละวันไปที่ไหนบ้าง พักที่ไหน เดินทางยังไง ฯลฯ หรือหากไปกับทัวร์ก็ต้องมีใบรับรองการซื้อทัวร์มาด้วย
  • ใบจองตั๋วเครื่องบินไปกลับตามแผนการเดินทางของเรา : ส่วนนี้อาจจะลำบากหน่อยที่เว็บสายการบินส่วนใหญ่ต้องจ่ายเงินเลยถึงจะได้ตั๋วมา ซึ่งไม่แนะนำให้ทำแบบนั้นเพราะหากวีซ่าไม่ผ่านจะทำให้เสียเงินไปเปล่าๆ ส่วนตัวผมเองใช้บริการเอเย่นต์ทัวร์หรือบริษัทรับทำวีซ่าช่วยจองตั๋วแบบยังไม่ต้องจ่ายเต็มจำนวนให้ โดยมีค่าบริการประมาณ 500 บาท เมื่อได้วีซ่าแล้วจะยกเลิกตั๋วที่จองไว้แล้วซื้อเอง หรือจะซื้อกับบริษัทนั้นเลยก็ตามสะดวก
  • Statement รายการเดินบัญชีย้อนหลัง 3 เดือน (ถ้ามีบัญชีรายได้หลักและบัญชีเงินออมแยกกัน ก็ยื่นไปทั้งสองบัญชี) หรือหลักฐานทางการเงินอื่นๆ ที่ช่วยยืนยันว่าเรามีทุนทรัพย์หมุนเวียนเพียงพอ
  • สำเนาโฉนดที่ดินหรือคอนโดภายใต้ชื่อเรา ทะเบียนสมรส หรือหลักฐานถือครองทรัพย์สินต่างๆ ที่ยืนยันว่าเรามีข้อผูกมัดกับประเทศบ้านเกิดเพียงพอที่จะทำให้เราไม่หนีวีซ่า
  • หากเคยได้รับวีซ่าเชงเก้นมาก่อน (ทุกประเภท) ก็เตรียมสำเนาของหน้าวีซ่านั้น พร้อมกับสำเนาหน้าแรกของพาสปอร์ตเล่มนั้นไปด้วย
***เอกสารทั้งหมดต้องออกเป็นภาษาอังกฤษ (หรือสวีเดน) เอกสารใดที่ออกเป็นภาษาไทยต้องได้รับการแปลโดยสถาบันการแปลที่ได้รับการรับรอง***

.

2. ทำนัด VFS เพื่อยื่นเอกสาร

VFS คือหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตจากทางสถานทูตสวีเดนในประเทศไทย เพื่อทำหน้าที่รับเอกสารสำหรับผู้ประสงค์จะขอวีซ่า เราต้องยื่นเอกสารกับ VFS เท่านั้น เพื่อทาง VFS จะได้ดำเนินการต่อกับทางสถานทูตในกระบวนการพิจารณาวีซ่า สำหรับในกรุงเทพ VFS มีสองที่คือ อาคารเทรนดี้ (ซอยสุขุมวิท 13 – BTS นานา) และอาคารจามจุรี (MRT – สามย่าน) โดยเราต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่าวีซ่าประเทศที่เราจะขอนั้นต้องไปที่อาคารใด สำหรับการยื่นวีซ่าสวีเดนต้องไปที่อาคารเทรนดี้ – สุขุมวิท 13 (ทั้งนี้…สถานที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ขอให้อ่านข้อมูลจากหน้าเว็บของ VFS ให้ละเอียดก่อนทุกครั้ง)

การจะเข้าไปยื่นขอวีซ่ากับ VFS นั้นต้องนัดหมายล่วงหน้าก่อนเท่านั้น โดยสามารถทำแบบออนไลน์ได้ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

  • เข้าไปที่เว็บไซต์ https://visa.vfsglobal.com/tha/en/swe/login
  • คลิกที่ I don’t have an account เพื่อเริ่มสร้างบัญชีผู้ใช้ใหม่
  • ระบุข้อมูลที่เราจะใช้สมัคร (อีเมล์ที่ใช้ต้องใช้ได้จริง เพราะต้องใช้รับใบนัดและรับข้อมูลความคืบหน้าของวีซ่าเรา) แล้วคลิก “Register”
  • จากนั้นระบบจะแจ้งว่าส่งข้อความไปที่อีเมล์เรา เพื่อให้เรายืนยันอีเมล์

.

  • เข้าอีเมล์เรา เปิดเมล์จาก VFS ขึ้นมา แล้วคลิกที่ ActivateAccount
  • เมื่อคลิกแล้วระบบจะพาไปที่หน้า Login ให้เราเข้าระบบโดยการ Login ด้วยอีเมล์และรหัสผ่านที่เราตั้งไว้ตอนแรก
  • เมื่อเข้ามาแล้วให้เราเริ่มทำนัดหมายโดยเลือกที่ Start New Booking
  • ถัดมาให้เลือกศูนย์ VFS ที่เราจะไปและประเภทวีซ่าที่เราจะขอ
  • กรอกข้อมูลส่วนตัวของเรา
  • ตรวจสอบข้อมูล หากต้องการเพิ่มผู้สมัครที่จะยื่นในคราวเดียวกัน เพิ่มได้ที่นั้นตอนนี้ เรียบร้อยแล้วกด Continue
  • ต่อมาก็เลือกวันและเวลาที่เราต้องการไปยื่นเอกสารที่ VFS

.

  • จากนั้นก็เลือกบริการเสริมที่เราต้องการ (ตัวอย่างกรณีผมเลือกบริการ Courrier Service ที่ให้ทาง VFS ส่งเล่มพาสปอร์ตคืนให้ทาง EMS เลยจะได้ไม่ต้องเสียเวลาไปรับอีกรอบ และผมก็เลือกบริการ SMS Service ให้ส่งความคืบหน้ามาทาง SMS เรา) ราคาก็ตามที่เเสดงในหน้าจอเลย การจ่ายเงินก็ไปจ่ายวันที่เรายื่นเอกสาร

.

  • สุดท้ายระบบจะให้เราตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดอีกครั้ง หากทุกอย่างถูกต้องแล้วให้กดที่ Pay at VFS Center และทำตามขั้นตอนไปจนเสร็จสิ้น

.

  • เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนทั้งหมดแล้ว ระบบจะส่งใบนัดมาให้เราทางอีเมล์ ให้เราเข้าไปดาวน์โหลดใบนัดนั้นและพิมพ์ออกมาด้วย เพราะต้องใช้ประกอบการยื่นเอกสารที่ VFS ด้วย
ตัวอย่างใบนัดยื่นเอกสารวีซ่าสวีเดนของ VFS GLOBAL

ถึงตรงนี้ก็เป็นอันว่าเราพร้อมที่จะไปยื่นเอกสารเพื่อขอวีซ่าแล้ว ระหว่างที่รอวันยื่นก็ขอให้ตรวจสอบเอกสารต่างๆ ให้ครบถ้วน ส่วนไหนที่ยังขาดตกบกพร่องหรือยังไม่สมบูรณ์ก็จัดการให้เรียบร้อย เพราะยิ่งเอกสารครบถ้วนชัดเจนก็ยื่งทำให้เรามีสิทธิ์ได้ได้วีซ่าง่ายขึ้นและเร็วขึ้น

.

3. เดินทางไป VFS GLOBAL เพื่อยื่นเอกสารและเก็บข้อมูล Biometric

เมื่อถึงวันกำหนดนัดก็เดินทางไปยังสถานที่และเวลาที่ทางนัดหมายกับ VFS ไว้ (กรณีของผมตามใบนัดนั้นแจ้งว่าให้ไปที่ VFS ตึกจามจุรี แต่ก่อนวันนัด 5 วันมีอีเมล์จากทาง VFS ว่าเปลี่ยนสถานที่ยื่นเอกสารเป็นอาคารเทรนดี้ ดังนั้นให้หมั่นเช็คอีเมล์ด้วย เพราะอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ตลอดอย่างกรณีนี้) อาคารเทรนดี้ที่ผมได้รับแจ้งว่าให้ไปยื่นเอกสารที่นี่นั้นอยู่ซอยสุขุมวิท 13 ลงรถไฟฟ้านานาแล้วเดินไปไม่ไกล สิ่งที่ต้องเตรียมไปด้วยนอกจากเอกสารและใบนัดแล้ว อีกอย่างที่สำคัญคือ “เงิน” ครับ โดยค่าวีซ่าอยู่ที่ 3,000 บาทและค่าธรรมเนียม VFS 800 บาท (รวมกับค่าบริการเสริมอื่นๆ ที่เราเลือกไว้) สะดวกที่สุดคือจ่ายเงินสด ผมเข้าใจว่า VFS รับจ่ายแบบเงินโอนด้วย แต่บัตรเครดิตไม่มั่นใจว่ารับหรือไม่……ข้อมูลราคาและการจ่ายเงินนี้อัพเดต ณ วันที่ 13 กรกฎาคม 2022

.

.

.

.

เมื่อไปถึงแล้วก็ขึ้นไปที่ชั้น 8 (เจ้าหน้าที่ที่ลิฟต์อนุญาตให้ขึ้นไปเฉพาะผู้สมัครและขึ้นไปได้ไม่เกิน 10 นาทีก่อนเวลานัดเท่านั้น) เมื่อเข้าไปแล้วผ่านการตรวจเอกสารเบื้องต้น เจ้าหน้าที่จะจัดเรียงเอกสารให้เรา และให้บัตรคิวมา (บนนั้นมีบริการถ่ายเอกสารและพิมพ์เอกสารด้วย แต่ราคามหาโหดมาก ดังนั้นเตรียมไปให้พร้อมครับ) เมื่อได้บัตรคิวแล้วเราก็เข้าไปรอด้านในเพื่อรอเรียกคิว

.

เมื่อถึงคิวเราก็ไปตามเคาน์เตอร์ที่แจ้งบนหน้าจอ เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเอกสารที่เรายื่นอีกครั้งและอาจจะมีการซักถามข้อมูลเพิ่มเติม (เจ้าหน้าที่ VFS ไม่ใช่คนพิจารณาอนุมัติวีซ่า เพียงแต่รวบรวมจัดการเอกสารเท่านั้น) ถ้าเราใช้บริการ Courrier Service เจ้าหน้าที่จะให้ซองจดหมายเรามาเพื่อระบุชื่อที่อยู่หน้าซองตามที่เราต้องการให้พาสปอร์ตส่งกลับไปหาเรา เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยก็จ่ายเงินและออกมารอด้านนอกเพื่อรับการเรียบคิวไปเก็บข้อมูล Biometric (พิมพ์ลายนิ้วมือและถ่ายรูป) ส่วนใบเสร็จที่ได้ก็เก็บไว้ให้ดีนะครับ เพราะในนั้นมีทั้ง Reference Number ที่ใช้ตรวจสอบสถานะการพิจารณาวีซ่าเรา และหมายเลข EMS ใช้ตรวจสอบสถานะการส่งเล่มพาสปอร์ตกลับมาให้เราด้วย

เมื่อยื่นเอกสาร จ่ายเงิน และเก็บข้อมูล Biometric แล้ว ก็ถือว่าเสร็จสิ้นกระบวนการ เราสามารถกลับบ้านได้ ที่เหลือก็อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาวีซ่า โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่าให้เวลาพิจารณาจนถึงส่งเล่มกลับประมาณ 15 วัน ซึ่งอาจจะเร็วหรือช้ากว่านี้ก็ได้

.

4. รอผลการพิจารณาวีซ่า

ระหว่างที่เรารอผลการพิจารณาวีซ่านั้น เราสามารถตรวจสอบสถานนะได้โดยเข้าไปที่เว็บตรวจสอบสถานะการสมัคร จากนั้นก็กรอกข้อมูลเพื่อตรวจสอบได้เลย

.

และแนะนำให้เช็คอีเมล์เป็นครั้งคราวเพราะสถานะต่างๆ จะส่งทางอีเมล์เป็นหลัก กรณีการสมัครของผมนั้นใช้เวลาประมาณ 6 วันนับจากวันยื่นเอกสารที่ VFS ก็ได้รับอีเมล์ว่าทาง VFS ได้รับเล่มพาสปอร์ตคืนมาจากสถานทูตสวีเดนแล้ว และกำลังนำส่งคืนให้เราทางไปรษณีย์ หากใครสมัคร SMS Service ด้วยก็จะได้รับ SMS แจ้งเตือนด้วยเช่นกัน ส่วนตัวคิดว่าบริการนี้อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้ก็ได้ เพราะยังไงก็ได้รับอีเมล์เหมือนกัน 😛

อีเมล์แจ้งว่าได้รับเล่มพาสปอร์ตคืนจากสถานทูตสวีเดนและกำลังส่งคืน

.

วันรุ่งขึ้นหลังจากได้รับเมล์นี้ ช่วงบ่ายก็ได้รับเล่มพาสปอร์ตคืนทาง EMS แล้วก็มาลุ้นกันว่าผลวีซ่าจะเป็นยังไง……..ช่วงเวลาที่ตื่นเต้นที่สุดก็ตอนเปิดซองนี่แหละ…….ผลปรากฏว่าผมได้รับวีซ่าท่องเที่ยว (Type-C) แบบ Single Entry เป็นเวลา 24 วันและอยู่ได้นานสูงสุด 9 วัน (ก็คือได้ครบจำนวนวันตามที่ขอ แต่เผื่อเวลาให้เราขยับวันเดินทางได้นิดหน่อย) ถือว่าได้ตามที่ขอไปครับ 🙂

.

เมื่อได้วีซ่ามาแล้วก็เท่ากับเรามีสิทธิ์ที่จะเข้าประเทศกลุ่มเชงเก้นตามวัตถุประสงค์ของวีซ่าและแผนการเดินทางที่เรายื่นไปได้ ขั้นตอนต่อไปก็ถึงเวลาที่เราไปจัดการเรื่องอื่นต่อ เช่นซื้อตั๋วเครื่องบิน จองที่พัก วางแผนเที่ยวโดยละเอียด หรือสรรหาเสื้อผาไปถ่ายรูปเก๋ๆ ก็ตามแต่ความพึงพอใจของแต่ละคนเลยครับ เพราะเรามีความพร้อมในเรื่องเอกสารการเดินทางแล้ว สุดท้ายนี้ก็หวังว่าคำแนะนำการขอวีซ่าเชงเก้น (สวีเดน) นี้จะเป็นแนวทางให้กับผู้ที่ตั้งใจจะยื่นวีซ่าเองได้ และก็ขอให้ทุกคนได้รับการอนุมัติวีซ่าตามที่ตั้งใจไว้…..เที่ยวให้สนุกครับ

.

.

หมายเหตุ :

  1. รีวิวที่ผมทำขึ้นมานี้เป็นเพียงการแนะนำขั้นตอนการยื่นวีซ่าเชงเก้น (สวีเดน) เท่านั้น ไม่ได้การันตีว่าคนที่ยื่นตามนี้ทั้งหมดจะได้รับอนุมัติวีซ่า เพราะแต่ละคนมีประวัติและคุณสมบัติเฉพาะบุคคลต่างกันไป การพิจารณาอนุมัติวีซ่านั้นสถานทูตเป็นผู้มีสิทธิ์ขาดในการตัดสิน
  2. เนื่องจากคุณสมบัติของผู้สมัครแต่ละคนแตกต่างกันไป บางคนอาจจะได้รับการสอบถามหรือเรียกเอกสารเพิ่มเติมนอกเหนือจากทางที่ผมระบุไว้ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของหน่วยงานที่พิจารณาเอกสารและวีซ่าเป็นผู้กำหนด
  3. ข้อมูลต่างๆ ในรีวิวนี้จัดทำขึ้นโดยอ้างอิงข้อมูล ณ ช่วงเวลาที่ผมยื่นวีซ่า (เดือนกรกฎาคม 2022) เงื่อนไขและกระบวนการต่างๆ นั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ขอให้ทุกคนศึกษาข้อมูลให้ละเอียดก่อนยื่นวีซ่าทุกครั้ง
  4. หากมีคำถามสามารถโพสถามได้ที่ช่อง Comment ครับ ทางผมยินดีตอบคำถามทุกอย่างเกี่ยวกับขั้นตอนการยื่นขอวีซ่าหากผมสามารถตอบได้ ส่วนคำถามที่นอกเหนือจากนี้ เช่นหลักเกณฑ์หรือระยะเวลาการพิจารณาวีซ่า ความถูกต้องของการกรอกข้อมูลและการเตรียมเอกสาร เหตุผลในการถูกปฏิเสธวีซ่า รวมถึงคำถามที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติเฉพาะตัวบุคคล ทางผมไม่สามารถให้คำตอบได้ครับ
  5. หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามทาง VFS ได้โดยตรง ตามข้อมูลการติดต่อจากเว็บไซต์ของ VFS (https://visa.vfsglobal.com/tha/en/swe/contact-us)
  6. ผมเพียงรีวิววิธีการยื่นขอวีซ่าเชงเก้น (สวีเดน) เท่านั้น ไม่รับจ้างทำเอกสาร กรอกข้อมูล รับทำวีซ่า หรือกระทำการใดๆ เพื่อหารายได้ทั้งสิ้น
  7. หากรีวิวนี้มีข้อมูลที่คลาดเคลื่อนหรือตกหล่นไป ทางผมขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::

SHIPY SIWARIT TIASUWATTISETH : เขียน

https://www.facebook.com/shipyshipdotcom

Advertisement

3 thoughts on “[Review] ยื่นวีซ่า Schengen (Sweden)…ไม่ยาก !!

  1. รบกวนสอบถามครับว่าได้รับอีเมล์ว่า passport ส่งคืนมาแล้ว ช่วงเวลาไหนของวันครับ ขอบคุณมากครับ

    Like

      1. วันนี้เป็นวันที่ 6 นับจากวันที่ยื่น (17/4) เลยหวังลึกๆว่าจะได้อีเมล์วันนี้เหมือนกันครับ ขอบคุณสำหรับข้อมูลครับ

        Liked by 1 person

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.