ออสเตรเลีย (Australia)…ประเทศในแถบโอเชียเนียที่มีวัฒนธรรมและความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอันเป็นจุดหมายในอุดมคติของใครหลายๆ คน ที่หวังไว้ว่าจะเดินทางไปเยือนสักครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไทยอย่างเรา การได้ไปเยือนและท่องเที่ยวแดนจิงโจ้สักครั้งในชีวิตนั้นถือเป็นรางวัลและประสบการณ์ที่สุดแสนจะล้ำค่า แต่การที่บุคคลสัญชาติไทยที่ถือพาสปอร์ตไทยแบบปกติ (Ordinary Passport) จะเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวออสเตรเลียนั้นจำเป็นต้องขอและได้รับอนุมัติวีซ่าก่อนการเดินทางเสียก่อน (อุปสรรคการเที่ยวรอบโลกของคนไทยอย่างหนึ่งก็คือเรื่องวีซ่านี่แหละครับ 😀 ) ซึ่งในอดีตนั้นการขอวีซ่าออสเตรเลียของคนไทยนั้นถือเป็นเรื่องยุ่งยากและมีขั้นตอนซับซ้อน ทั้งในเรื่องเอกสารและกระบวนการต่างๆ

แต่ในปัจจุบันการขอวีซ่าท่องเที่ยวออสเตรเลีย (ประเภท 600 หรือ Subclass 600) สำหรับผู้ถือพาสปอร์ตไทยนั้นมีความสะดวกและขั้นตอนที่ทำให้เราขอได้ง่ายขึ้น และประเด็นสำคัญคือ “สามารถสมัครและยื่นเอกสารออนไลน์ได้แล้ว” ซึ่งใช้เวลาไม่นาน จากประสบการณ์ของผมนั้นนับตั้งแต่วันกรอกข้อมูลและยื่น (อัพโหลด) เอกสารผ่านออนไลน์เสร็จจนถึงวันที่อนุมัติวีซ่านั้นใช้เวลารวมทั้งสิ้น 7 วันเท่านั้น (รวมเสาร์อาทิตย์แล้วด้วย) แต่ก็ยังคงมีบางขั้นตอนที่ต้องเดินทางไปให้ข้อมูลกับทางตัวแทนสถานทูตออสเตรเลียในประเทศไทย (VFS Global) แต่ถึงกระนั้นก็ยังถือว่าค่อนข้างสะดวก เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า และประหยัดเวลากว่าสมัยก่อนอยู่ดี เพื่อไม่ให้เสียเวลาผมขอเข้าเรื่องเลยละกัน 🙂 ซึ่งสามารถแบ่งขั้นตอนการยื่นวีซ่าออสเตรเลียออนไลน์ออกเป็น 4 ขั้นตอนใหญ่ๆ ดังนี้ครับ
จัดเตรียมเอกสารหลักฐานสำหรับยื่นวีซ่า
กรอกข้อมูลวีซ่าและอัพโหลดเอกสารออนไลน์
เดินทางไป VFS Global เพื่อเก็บข้อมูลลายนิ้วมือและถ่ายรูปหรือข้อมูลไบโอเมตริกซ์ (ขั้นตอนนี้แหละครับที่ผมบอกว่าต้องเดินทางไปให้ข้อมูล)
รอผลการพิจารณาวีซ่า
ในแต่ละขั้นตอนมีรายละเอียดและกระบวนการต่างๆ ซึ่งจะผมขออธิบายแบบทีละขั้นทีละตอน โดยอ้างอิงจากประสบการณ์ตรงของผมเองที่สมัครวีซ่าออสเตรเลียแบบออนไลน์ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2018 บวกกับก่อนหน้านั้นผมศึกษาข้อมูลล่วงหน้าจากกระทู้ของคุณ Artchwat ที่แสดงไว้ใน Pantip.com มาดูกันเลยครับว่าแต่ละขั้นตอนต้องทำอย่างไรบ้าง
ขั้นตอนที่หนึ่ง : จัดเตรียมเอกสารหลักฐานสำหรับยื่นวีซ่า
ก่อนที่เราจะทำการยื่นวีซ่าท่องเที่ยวออสเตรเลียแบบออนไลน์นั้น เราจะต้องเตรียมเอกสารและหลักฐานต่างๆ ก่อน ซึ่งมีทั้งเอกสารที่เราสามารถจัดทำได้เองและเอกสารที่ต้องขอกับทางธนาคารหรือต้องขอกับหน่วยงานราชการหรือต้องขอกับนายจ้างของเรา (กรณีเราเป็นพนักงานประจำ) ซึ่งผมอ้างอิงจากระเบียบการขอวีซ่าท่องเที่ยว (ประเภท 600) เดือนพฤษภาคม 2016 (ดูรายละเอียดได้โดยคลิกที่นี่ครับ) โดยเอกสารต่างๆ ที่จะต้องใช้อัพโหลดมีรายละเอียดดังนี้
สำเนาหนังสือเดินทาง (Passport) หน้าที่มีข้อมูลและรูปของเรา โดยหนังสือเดินทางต้องมีอายุครอบคลุมการเดินทางและเหลืออายุอย่างน้อย 6 เดือนนับจากวันเดินทาง
สำเนาประวัติการเดินทาง (พูดง่ายๆ คือ สำเนาหน้าพาสปอร์ตที่มีตราแสตมป์จาก ตม. ประเทศต่างๆ ที่เราเคยเดินทางไปทุกหน้านั่นแหละ)
สำเนาพาสปอร์ตเล่มเก่าพร้อมหน้าที่มีประวัติการเดินทาง (ตราแสตมป์ ตม.) ทุกหน้า (ถ้ามี)
รูปถ่ายขนาด 3.5 x 4.5 cm พื้นหลังสีขาว อายุไม่เกิน 6 เดือน
สำเนาบัตรประชาชน (ไม่ต้องแปลก็ได้)
สำเนาทะเบียนบ้าน (ไม่ต้องแปลก็ได้)
แผนการเดินทางและการท่องเที่่ยวในแต่ละวัน โดยระบุรายละเอียดว่าเดินทางถึงวันไหน เดินทางกลับวันไหน แต่ละวันไปไหนบ้าง รวมทั้งระบุเที่ยวบินขาเข้าและขาออกที่เราวางแผนว่าจะใช้ โรงแรมที่คาดว่าจะเข้าพักกรณีจะพักโรงแรม ไม่ได้พักกับเพื่อนหรือญาติ พิมพ์เป็นตารางให้เข้าใจง่ายๆ
หลักฐานแสดงทุนทรัพย์ส่วนตัวที่เพียงพอสำหรับการเดินทาง เช่น Statement บัญชีออมทรัพย์ (หรือบัญชีเงินเดือน) ที่มีความเคลื่อนไหวสมำเสมอย้อนหลังอย่างน้อย 6 เดือน หรือ Statement บัญชีเงินฝากประจำ 6 เดือนย้อนหลัง หรือสำเนาแสดงการถือหลักทรัพย์หรือหุ้นหรือกองทุน เป็นต้น โดยแนะนำว่าเอกสารควรเป็นภาษาอังกฤษ
หลักฐานการประกอบวิชาชีพ (อันนี้ผมมองว่าสำคัญมากครับ เพราะจะเป็นการยืนยันว่าเรามีภาระผูกพันที่ประเทศไทยจริงๆ และสนับสนุนตัวเราว่าเราไปแล้วกลับ ไม่หนีวีซ่า)
– สำหรับพนักงานประจำ (มนุษย์เงินเดือน) อย่างผมก็ใช้ หนังสือรับรองการทำงานจากบริษัทนายจ้างเราที่ระบุตำแหน่ง เงินเดือน วันที่เริ่มงาน ระยะเวลาที่อนุญาตให้ลา และประเทศที่จะไป
– สำหรับเจ้าของกิจการหรือทำธุรกิจส่วนตัวก็ใช้หลักฐานการเป็นเจ้าของกิจการ เช่น ทะเบียนการค้า ทะเบียนหุ้น หนังสือรับรองบริษัท
เอกสารอื่นๆ ที่จำเป็นและต้องการใช้สนับสนุนข้อมูลของเรา เช่น หลักฐานแสดงความสัมพันธ์กรณีที่เดินทางเป็นกลุ่มหลายคนกับญาติหรือไปเยี่ยมญาติที่อาศัยอยู่ออสเตรเลีย หลักฐานแสดงการสนับสนุนทางการเงิน (Sponsorship) และสถานภาพทางการเงินของผู้ให้การสนับสนุนกรณีที่มีผู้ออกเงินให้เราเดินทางไปเที่ยว หนังสือยินยอมจากเจ้าบ้านกรณีที่เราไปขอพักกับเพื่อนหรือญาติที่นั่น เป็นต้น
เอกสารทุกอย่างที่เรามีนั้นให้สแกนและ Save เป็นไฟล์ PDF เอาไว้แยกเป็นไฟล์ๆ และตั้งชื่อไฟล์ให้เข้าใจง่ายและสื่อถึงเอกสารนั้นๆ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องเอกสาร ผมแนะนำว่าให้ลองไปศึกษาจากระเบียบการขอวีซ่าท่องเที่ยว (ประเภท 600) ที่ผมให้ลิ้งค์ไว้ข้างต้น เพราะในนั้นบอกรายละเอียดไว้หมด ลองเอาไปดูครับว่าตัวเราเองต้องใช้เอกสารประมาณไหนถึงจะเหมาะสม
หมายเหตุ
- เอกสารข้อ 1, 2, 5 และ 6 นั้นให้เขียนรับรองสำเนาถูกต้อง (Certified True Copy) พร้อมเซนต์ชื่อกำกับให้เรียบร้อย
- เรื่องเอกสารผมอยากให้เช็คให้ดีและเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด (วีซ่าจะผ่านหรือไม่นั้น เอกสารหลักฐานมีผลอย่างมาก) เพราะแต่ละคนนั้นอาจจะใช้เอกสารในรูปแบบที่ต่างกัน ด้วยต่างอาชีพกันหรือมีแหล่งทุนทรัพย์ที่ไม่เหมือนกัน ก็ใช้เอกสารก็ต่างกันด้วย แนวคิดสำคัญที่ผมอยากให้นึกถึงตอนเตรียมเอกสารคือการยืนยันว่าเรามีตัวตนจริง มีทุนทรัพย์เพียงพอสำหรับเดินทางและท่องเที่ยวในระยะเวลาที่เราต้องการไป มีภาระผูกพันที่ประเทศเกิดจริงและไม่มีความตั้งใจหรือส่อเค้าที่จะหนีวีซ่าหรือใช้วีซ่าผิดประเภท เอกสารจะเป็นสิ่งที่ตอบคำถามเหล่านี้ต่อเจ้าหน้าที่สถานทูตแทนเรา
- หากสังเกตให้ดีจะพบว่าเอกสารที่สถานทูตขอนั้นไม่ได้รวมถึง เอกสารการจองตั๋วเครื่องบินและเอกสารการจองโรงแรม รวมถึงไม่ถามหาประกันการเดินทาง (จุดนี้ที่ต่างจากวีซ่า Schengen) ดังนั้นหากวีซ่ายังไม่ได้รับอนุมัติจึงยังไม่ควรจองเครื่องบินและโรงแรมครับ (เว้นเสียแต่ว่ามั่นใจว่าผ่านชัวร์ หรือเห็นราคาน่าสนจะสอยไว้ก่อนก็อยู่ที่ดุลยพินิจของแต่ละคนครับ)
ขั้นตอนที่สอง : กรอกข้อมูลวีซ่าและอัพโหลดเอกสารออนไลน์
หลังจากที่เราเตรียมเอกสารและหลักฐานต่างๆ พร้อมแล้วก็มาถึงขั้นตอนที่เราจะต้องไปสมัครวีซ่าและให้ข้อมูลส่วนตัวของเรากับทางสถานทูตผ่านทางระบบออนไลน์ โดยขั้นตอนนี้ผมขอแบ่งเป็น 2 ลำดับย่อยๆ คือ สมัครสมาชิกกับทางหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองของออสเตรเลีย และกรอกข้อมูลส่วนตัวสำหรับให้ทางหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองของออสเตรเลียพิจารณาวีซ่าและอัพโหลดเอกสาร ซึ่งผมขออธิบายเป็นขั้นเป็นตอนแบบละเอียดตามนี้ครับ
*** ทุกช่องต้องกรอกเป็นภาษาอังกฤษ และผมแนะนำว่าควรกรอกโดยใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมดครับ ***
การสมัครสมาชิกกับทางหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองของออสเตรเลีย (Immi Account)
เข้าไปที่เว็บ https://online.immi.gov.au/lusc/register เพื่อสมัครสมาชิก โดยกรอกข้อมูลดังนี้
ตั้งรหัสผ่านและตั้งคำถามลับส่วนตัว
กลับไปเช็คอีเมล์ของเราตามเมล์ที่ให้ไว้ และคลิกลิงค์ในอีเมล์เพื่อเป็นการยืนยันอีเมล์เรา เมื่อคลิกแล้วจะมีหน้าจอยืนยันเด้งขึ้นมา
เมื่อคลิกแล้วจะมีหน้าจอยืนยันเด้งขึ้นมา แสดงว่าอีเมล์เราได้รับการ Activate แล้ว ให้ปิดหน้าจอนี้ได้
กลับมาที่หน้าจอที่เราทำค้างไว้หลังจากคลิก Submit ในขั้นตอนที่ 2 เมื่อยืนยันอีเมล์แล้วให้เราคลิกที่ Continue ได้เลย เป็นอันเสร็จสอ้นการสมัครสมาชิกครับ
กรอกข้อมูลส่วนตัวสำหรับและอัพโหลดเอกสาร
หลังจากที่คลิก Continue ในขั้นตอนที่ 4 ของการสมัครสมาชิกแล้ว ระบบจะพาเราไปหน้าจากเริ่มกรอกข้อมูล (หรือหากปิดหน้านั้นไปแล้ว อาจจะมาหน้านี้ได้โดยการเข้าไปที่ลิงค์ https://online.immi.gov.au/lusc/login แล้วกรอก Username และ Password ก็ได้) ให้เราเลือก New Application
เลือกประเภทวีซ่าแบบ Visitor แบบ Visitor Visa (600) แล้วคลิก Continue
หน้านี้จะมีเงือนไขและข้อกำหนดต่างๆ ให้อ่าน หากอ่านแล้วให้ติ๊กถูกรับทราบและคลิก Next เพื่อไปหน้าต่อไป
หน้านี้จะถามเกี่ยวกับข้อมูลวัตถุประสงค์การเดินทางของเรา (รายละเอียดแต่ละคนไม่เหมือนกัน อ่านก่อนติ๊กหรือใส่ข้อมูลด้วยนะครับ ตัวอย่างที่ผมเอามาให้ดูนั้นเป็นแบบสำหรับเดินทางท่องเที่ยวแบบยื่นคนเดียวหรือยื่นทีละคน)
ขั้นตอนนี้จะให้เราใส่ข้อมูลส่วนตัวและสถานะพลเมือง
วิธีกรอกข้อมูลบัตรประชาชนไทย
หน้านี้จะให้เราตรวจสอบข้อมูลที่เรากรอกไปอีกครั้ง หากถูกต้องแล้วให้ติ๊ก Yes และไปต่อขั้นตอนถัดไป
หน้านี้ถามประวัติการเดินทางไปออสเตรเลียและประวัติการยื่นวีซ่าออสเตรเลีย
หน้านี้เกี่ยวกับว่าเรามีคนเดินทางรวมไปกับเราหรือไม่ (ตรงนี้ผมแนะนำว่าถ้าไปหลายคนเป็นกลุ่มเพื่อน ให้เลือก No แล้วแยกยื่นวีซ่าดีกว่า เว้นเสียแต่ไปกันหลายคนแบบเครือญาติ พ่อแม่ลูก ค่อยเลือก Yes แล้วกรอกข้อมูลแสดงความสัมพันธ์)
ขั้นตอนนี้เราจะต้องให้ข้อมูลที่อยู่อาศัยและถิ่นพำนักปัจจุบันของเราในประเทศไทย
หน้านี้ถามเกี่่ยวกับการมอบอำนาจและช่องทางรับข้อมูลของเรา
หน้านี้จะถามเราเกี่ยวกับว่าเรามีญาติที่ประเทศไทยที่ไม่ได้เดินทางไปออสเตรเลียกับเราด้วยในครั้งนี้หรือไม่ เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง เป็นต้น หากมีให้เราเลือก Yes แล้วก็คลิก Add เพื่อกรอกข้อมูลรายละเอียดแต่ละคน (ทีละคน) หากไม่มีก็เลือก No ครับ
วิธีกรอกข้อมูลญาติหลังจากคลิก Add แล้ว
ต่อมาเราจะต้องกรอกข้อมูลการเดินทางเข้าประเทศออสเตรเลียและระยะเวลาที่พำนัก ในข้อแรกที่ถามว่าจะไปออสเตรเลียมากกว่าหนึ่งครั้งหรือไม่ ไม่มีผลว่าจะได้วีซ่าแบบ Single หรือ Multiple หรือไม่ เพราะผมติ๊กไปว่า No เนื่องจากไม่ได้คิดจะไปหลายครั้ง แต่สุดท้ายก็ได้วีซ่า Multiple 3 ปีมา ทั้งที่ไม่เคยได้วีซ่าออสเตรเลียมาก่อนในชีวิต เข้าใจว่าทางสถานทูตคงมององค์ประกอบอื่นประกอบด้วย เช่น ประวัติการเดินทาง สถานะทางอาชีพ เป็นต้น
หน้านี้จะถามเราเกี่ยวกับอาชีพและการทำงานของเรา แต่ละคนจะมีรายละเอียดต่างกันไป อย่างของผมเป็นมนุษย์เงินเดือน หน้าตาการกรอกจึงเป็นอย่างที่เห็น คนที่มีอาชีพอย่างอื่น เช่น นักธุรกิจ หรือ กิจการส่วนตัว อาจจะมีหน้าตาการกรอกที่ต่างกันด้วย
ถัดมาเราจะโดนถามเกี่ยวกับแหล่งเงินที่เราจะใช้ในการเดินทางไปเที่ยวออสเตรเลีย ให้เราระบุตามจริงและชี้แจงรายละเอียดด้วย ยกตัวอย่างของผมนั้นใช้เงินตัวเองก็เลือก Self Funded แล้วก็ให้รายละเอียดไปว่ามีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำอะไรบ้าง หรือมีหลักทรัพย์อื่นๆ เช่นหุ้น กองทุนอะไรบ้าง แล้วทิ้งท้ายไว้ว่ารายละเอียดตามเอกสารแนบ ตรงนี้หากใครมีสปอนเชอร์ออกเงินให้ ก็ต้องมีหนังสือรับรองและ Statement ของสปอนเซอร์เรามาแสดงด้วยครับ ขอให้เช็คให้ดีก่อนจะให้ข้อมูลส่วนนี้
หน้านี้จะสอบถามเกี่ยวกับประวัติสุขภาพ โรคติดต่อ การตั้งครรถ์ และข้อมูลการรักษาตัวของเรา ขอให้ดูให้ดีและตอบตามความจริง
ต่อมาเป็นคำถามเกี่ยวกับข้อมูลและประวัติอาชญากรรมของเรา
ส่วนนี้จะเป็นส่วนที่เราต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติวีซ่าของเรา
หน้านี้จะถามเราอีกครั้งว่าเราเข้าใจกฏเกณฑ์ ระเบียบ และข้อกำหนดต่างๆ ของการยื่นวีซ่าออสเตรเลียดีแล้วหรือไม่ เช่น เข้าใจแล้วนะว่าการใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จและชี้นำไปในทางที่ทำให้เข้าใจผิดนั้นมีบทลงโทษและมีผลต่อการพิจารณาวีซ่าครั้งนี้และอนาคตด้วย ดังนั้นข้อมูลที่ให้ไปทุกขั้นตอนต้องเป็นความจริงนะครับ เพราะหากโดนจับได้ทีหลังอันนั้นเรื่องยาวแน่ๆ และอาจจะไม่ได้มีผลกับวีซ่าออสเตรเลียเท่านั้น อาจจะมีผลกับวีซ่าประเทศอื่นๆ หรือการเข้าประเทศอื่นๆ ในอนาคตด้วย
หน้านี้จะให้เราตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลทั้งหมดที่เรากรอกมาในตั้งแต่แรก ขอให้เช็คให้ดีๆ นะครับ หากพบจุดที่ต้องแก้ก็สามารถคลิกเข้าไปแก้ได้เลย
จากนั้นระบบจะพาเรามาอัพโหลดเอกสารทั้งหมดที่เราเตรียมไว้ตั้งแต่แรก ให้เราไล่อัพโหลดทีละประเภท โดยเอกสารแต่ละประเภทสามารถอัพโหลดได้มากกว่า 1 ไฟล์ เช่น เอกสารทางการเงิน ถ้าเรามีมากกว่า 1 บัญชี เราก็สามารถอัพโหลดทุกบัญชีที่เราอยากแสดงได้ เป็นต้น แต่เอกสารรวมทุกประเภทต้องไม่เกิน 60 ไฟล์ (ผมว่าคงไม่มีใครมีเอกสารมากขนาดนั้นหรอกครับ 🙂 )
วิธีการอัพโหลดเอกสารครับ
เมื่ออัพโหลดเอกสารแล้วจะมีหน้าจอขึ้นมาให้เรากด Submit Now เพื่อส่งข้อมูลทั้งหมดเข้าระบบ
จากนั้นระบบจะพาเรามาที่หน้าจอจ่ายเงิน ซึ่งค่าวีซ่าท่องเที่ยวประเภท 600 นั้นอยู่ที่ 140 AUD (ประมาณ 3,600 บาท) และหากจ่ายด้วยบัตรเครดิตจะมีค่าธรรมเนียมบัตรอีก 1.37 AUD (ประมาณ 35 บาท)
เมื่อชำระแล้วจะมีให้เราคลิกดูใบเสร็จ เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้วให้คลิก Next ก็เป็นอันจบกระบวนการสมัคร
จากนั้นให้เรากลับไปเช็คอีเมล์ของเราอีกครั้ง จะมีเมล์ส่งมาให้เรา 2 ฉบับ ฉบับแรกแจ้งว่าเขาได้รับรายละเอียดการสมัครที่เรายื่นไปแล้ว ส่วนอีกฉบับจะเป็นเมล์แจ้งว่ามีการขอข้อมูลเพิ่มเติม (ให้เราไปเก็บลายนิ้วมือและถ่ายรูปที่ VFS Global) ดังตัวอย่างด้านล่างนี้
ในเมล์ที่ชื่อว่า “IMMI s257A (s40) Requirement to Provide PIDs” นั้นจะมีไฟล์ PDF แนบมา 1 ไฟล์ ซึ่งเป็นไฟล์ที่ระบุข้อมูลของเราสำหรับไปยื่นให้สำนักงาน VFS Global ดูประกอบการเก็บลายนิ้วมือและถ่ายรูป ดังนั้นให้ Save ไฟล์นี้เก็บไว้และพิมพ์ออกมาด้วย เอาไว้เวลาเราไปเก็บลายนิ้วมือและถ่ายรูปที่ VFS Global ในขั้นตอนถัดไป
และเมื่อเรากลับไปดูที่ระบบยื่นวีซ่าจะบบว่าสถานะการสมัครจะขึ้นว่า Information requested และมีบรรทัดที่ระบุว่า Organise biometics collection
*** หมายเหตุ : บางคนหลังจากที่จ่ายเงินเสร็จใหม่ๆ แล้วระบบพามาที่หน้าจอนี้ อาจจะยังไม่เจอว่ามีการระบุ Information requested และยังไม่มีบรรทัด Organise biometric collection ทันทีและยังไม่มีอีเมล์แจ้งให้เราไปเก็บลายนิ้วมือและถ่ายรูปส่งไป (มีแค่อีเมล์ยืนยันว่าเราสมัครแล้วส่งไปเท่านั้น) โดยจะมีข้อความขึ้นมาแค่ว่า Application received แสดงขึ้นมา อาจจะเป็นเพราะว่าระบบกำลังประมวลผลอยู่ ให้รอสักประมาณ 1 – 2 ชั่วโมงแล้วลองล็อกอินเข้ามาใหม่ ก็จะพบว่ามีข้อความ Information requested ขึ้นมาและมีอีเมล์แจ้งให้เราไปเก็บลายนิ้วมือและถ่ายรูปส่งมา
ถึงตรงนี้แสดงว่าเราเสร็จสิ้นกระบวนการยื่นสมัคร กรอกข้อมูล และอัพโหลดเอกสารแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือเราต้องเดินทางไปเก็บข้่อมูลลายนิ้วมือและถ่ายรูปตามกระบวนการตรวจคนเข้าเมืองของออสเตรเลีย
ขั้นตอนที่สาม : เดินทางไป VFS Global เพื่อเก็บข้อมูลลายนิ้วมือและถ่ายรูปหรือข้อมูลไบโอเมตริกซ์
ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2016 เป็นต้นไป ทางหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองของออสเตรเลียได้ออกระเบียบใหม่ให้ผู้ที่ยื่นขอวีซ่าออสเตรเลียทุกคนจะต้องให้ข้อมูลไบโอเมตริกซ์ ก่อนที่จะมีการพิจารณาอนุมัติวีซ่า ซึ่งขั้นตอนนี้นั้นเราจำเป็นจะต้องเดินทางไปเก็บข้อมูลลายนิ้วมือและถ่ายรูปที่สำนักงานตัวแทนสถานทูตออสเตรเลียที่ใกล้เราที่สุด ซึ่งสำหรับประเทศไทยคือ VFS Global โดยที่ประเทศไทยมีอยู่ 2 ที่คือกรุงเทพและเชียงใหม่ และตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2016 นั้นการที่เราจะไปเก็บข้อมูลกับ VFS นั้น เราจำเป็นจะต้องทำการนัดหมายออนไลน์ก่อนเท่านั้น ซึ่งขั้นตอนการนัดหมายนั้นก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร และคิวว่างก็ไม่ได้แน่นจนนัดยากอย่างที่คิด สามารถทำตามลำดับตามนี้ได้เลยครับ
เข้าไปที่เว็บของ VFS Global ตามด้านล่างนี้เพื่อทำการสมัครสมาชิก
https://online.vfsglobal.com/GlobalAppointment/Account/RegisterUser?Length=7
**ข้อมูลทุกส่วนต้องกรอกเป็นภาษาอังกฤษ และแนะนำว่าควรใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมดครับ**
จากนั้นให้กลับไปเช็คอีเมล์ของเรา จะมีอีเมล์จากระบบส่งไปให้เรายืนยันอีเมล์ของเรา ให้เราคลิกที่ Activate Account
เมื่อกด Activate Account แล้วระบบจะพามาที่หน้าจอล็อกอิน (สังเกตว่าจะมีข้อความขึ้นมาว่า Your account is already activated แสดงว่าอีเมล์เราใช้งานกับระบบนี้ได้เแล้ว)
คลิกที่ Schedule Appointment เพื่อเริ่มทำการนัดหมาย
ระบุข้อมูลประเทศที่จะไป ประเทศต้นทาง (เพราะ VFS มีให้บริการในหลายประเทศและรับบริการวีซ่าให้หลายประเทศด้วย เราจึงต้องระบุ) สำนักงาน VFS ที่เราสะดวก และเลือก Biometrics collection
คลิก Add Applicant เพื่อเพิ่มผู้นัดหมายเข้าระบบ
เมื่อกด Add Applicant และให้เรากรอกข้อมูลส่วนตัวของเรา
เมื่อบันทึกข้อมูลเราแล้วให้เราตรวจสอบข้อมูลอีกครั้ง หากถูกต้องแล้วให้คลิก Continue (หากต้องการแก้ไขให้คลิก Edit เข้าไปแก้ไขได้)
จากนั้นหน้าจอจะพาเรามาเลือกวันที่เราสะดวกไปสำนักงาน VFS โดยสีเขียวคือวันที่ว่าง ให้เราคลิกเลือกวันที่ที่เราต้องการจากปฏิทินที่แสดงได้เลย
เมื่อเลือกวันได้แล้วจะมีตารางเวลาให้เราเลือกทางด้านขวา ให้ติ๊กเลือกเวลาที่เราสะดวกได้เลย (เลือกได้แค่ 1 ช่วงเวลาเท่านั้น คำนวณเวลาที่เดินทางไปที่ VFS ให้ดีก่อนเลือกนะครับ)
จากนั้นระบบจะแสดงข้อมูลชื่อและเวลาที่เรานัดหมายให้เราตรวจสอบอีกครั้ง
จากนั้นให้กลับไปเช็คอีเมล์อีกครั้ง จะพบว่ามีเมล์ที่มีชื่อว่า Appointment Confirmation ส่งมา ด้านในจะมีไฟล์แนบ 1 ไฟล์ ให้เรา Save เก็บไว้และพิมพ์ออกมา เพราะต้องใช้คู่กับไฟล์ที่ส่งมากับอีเมล์ที่แจ้งให้เราไปเก็บข้อมูลไบโอเมตริกซ์ในตอนที่เราเสร็จสิ้นการกรอกข้อมูลออนไลน์และอัพโหลดเอกสารแล้ว ตอนไปเก็บลายนิ้วมือและถ่ายรูปที่สำนักงาน VFS Global นั้นใช้เอกสารสองฉบับนี้คู่กับพาสปอร์ตตัวจริงของเรา (และเงินสด 851 บาท) ยื่นให้เจ้าหน้าที่
เมื่อถึงวันนัดหมายแล้วก็ให้เราเดินทางไปที่สำนักงาน VFS Global ที่เราเลือกไว้ (กรุงเทพหรือเชียงใหม่) ตามเวลาที่เราทำนัดไว้ โดยผมเองนั้นเลือกที่กรุงเทพไว้เพราะสะดวกที่สุด สำนักงาน VFS Global กรุงเทพนั้นอยู่ที่ตึกเดอะเทรนดี้ (The Trendy office building) ซ.สุขุมวิท 13 การเดินทางที่สะดวกที่สุดคือลงรถไฟฟ้า BTS สถานีนานา แล้วออกทางออก 3 จากนั้นเดินต่อสักประมาณ 50 เมตรก็จะเจอซอยสุขุมวิท 13 เดินเข้าซอยไม่เกิน 50 เมตรก็ถึงตึกเทรนดี้ (จริงๆ ตึกนี้ใหญ่มาก เห็นตั้งแต่ปากซอยแล้วครับ 🙂 )
ส่วนอันนี้เป็นแผนที่ของสำนักงาน VFS Global ที่เชียงใหม่ เผื่อไว้สำหรับใครที่สะดวกไปเชียงใหม่มากกว่าครับ
เมื่อมาถึงและเข้าไปในตึกแล้วแล้วก็ ให้มองหาเคาน์เตอร์ของ VFS Global ที่ให้บริการออสเตรเลีย (VFS Global เป็นบริษัทให้บริการเก็บข้อมูลวีซ่ากับหลายประเทศ ให้เราไปเคาน์เตอร์ของออสเตรเลียเท่านั้น โดยเคาน์เตอร์นี้หาไม่ยาก ผมไปเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2018 เดินเข้าตึกไปอยู่ทางด้านหน้าเฉียงไปทางซ้ายเล็กน้อยก็เห็นแล้ว)
เมื่อไปถึงเคาน์เตอร์แล้วก็ยื่นเอกสารให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเบื้องต้นแล้วเจ้าหน้าที่จะประทับตราที่เอกสารเรา จากนั้นจะบอกให้เราไปลิฟท์เบอร์ 10 เพื่อขึ้นไปชั้น 28 (ต้องใช้ลิฟท์เบอร์ 10 เท่านั้น ลิฟท์อื่นไปชั้น 28 ไม่ได้) เมื่อขึ้นไปแล้วเจ้าหน้าที่จะถามเราว่าไปยื่นของออสเตรเลียหรืออังกฤษ เมื่อบอกว่าออสเตรเลียเจ้าหน้าที่ชี้ไปว่าไปติดต่อที่เคาน์เตอร์ไหน ให้เรายื่นเอกสารสองฉบับที่เราพิมพ์ไว้พร้อมพาสปอร์ตตัวจริงให้ แล้วเขาจะให้บัตรคิวมา จากนั้นให้เราเข้าไปรอด้านในรอเรียกคิว เมื่อถึงคิวเจ้าหน้าที่เรียกเราไปชำระเงิน 851 บาทก่อน (รับเฉพาะเงินสด) แล้วค่อยไปนั่งรอเก็บลายนิ้วมือและถ่ายรูป รวมเวลาตั้งแต่มาถึงอาคารเดอะเทรนดี้จนเสร็จสิ้นทุกอย่างใช้เวลาไม่เกิน 45 นาที
เมื่อดำเนินการเก็บข้อมูลไบโอเมตริกซ์แล้ว ให้เราล็อกอินเข้าไปที่เว็บที่เรากรอกข้อมูลออนไลน์อีกครั้ง (https://online.immi.gov.au/lusc/login) จากนั้นให้เราไปคลิกที่ Information provided เพื่อยืนยันว่าเราไปดำเนินการตามที่ร้องขอเรียบร้อยแล้ว
เมื่อคลิกที่ Information provided แล้ว สถานะการสมัครเราจะเปลี่ยนเป็น Assessment in progress แสดงว่าทางสถานทูตกำลังพิจารณาวีซ่าให้เราอยู่ ถึงตรงนี้เราก็ต้องตั้งหน้า รอ…ร๊อ…รอ อย่างเดียว 😛 บางคนอาจจะเจ้าหน้าที่โทรมาสัมภาษณ์ด้วยก็ได้ (แต่สำหรับผมไม่มีมาครับ)
***เพิ่มเติมครับ***
ล่าสุดวันที่ 19 มิ.ย. 2018 มีคนมาอัพเดตทางผมว่าปุ่มนี้ถูกย้ายเข้าไปที่ส่วน Attach documents หลังจากที่ไปเก็บลายนิ้วมือและถ่ายรูปแล้ว ให้เข้ามาคลิกที่ Attach Documents แล้วเลื่อนลงมาล่างสุดจะมีปุ่ม I confirm I have provided information as requested ให้กดที่ปุ่มนี้เพื่อยืนยันว่าเราจัดการเก็บลายนิ้วมือเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ทางนั้นดำเนินการพิจารณาวีซ่าให้เราต่อไปครับ แต่รายละเอียดส่วนนี้เปลี่ยนแปลงค่อนข้างบ่อย เดี๋ยวก็ต้องกด เดี๋ยวก็ไม่ต้องกด ยังไงก็ลองสอบถามเจ้าหน้าที่ตอนไปเก็บลายนิ้วเพื่อความชัวร์จะดีที่สุดครับ
ขั้นตอนที่สี่ : รอผลการพิจารณาวีซ่า
หลังจากที่เราทำตามขั้นตอนทั้งหมดแล้วตั้งแต่กรอกข้อมูลออนไลน์จนถึงไปเก็บข้อมูลไบโอเมตริกซ์ ต่อมาเราก็ต้องรอการพิจารณาวีซ่าโดยทางหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองหรือสถานทูตออสเตรเลีย ซึ่งโดยปกติใช้เวลาประมาณ 19 – 34 วันทำการ (ตามที่แจ้งไว้ในหน้าเว็บ) ในระหว่างรอผมแนะนำว่าหมั่นเช็คอีเมล์ของเราด้วยครับ สักวันละครั้งก็ยังดี เผื่อมีข่าวดีหรือมีการขอข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งสำหรับของผมนั้นเร็วเกินคาด (มาก…กกก) เพราะหลังจากที่ไปเก็บลายนิ้วมือและถ่ายรูปได้เพียงวันเดียว (จริงๆ ยังไม่ถึง 24 ชั่วโมงดีด้วยซ้ำ) ก็มีอีเมล์หัวข้อว่า “Immi Grant Notification” ส่งมาบอกว่าว่าวีซ่าอนุมัติแล้ว และเมื่อเปิดดูก็รู้สึก Feel Good มากๆ เพราะวีซ่าที่ได้มานั้นเป็นแบบ Multiple อายุ 3 ปี เลยทีเดียว
* แต่ละคนอาจจะใช้เวลาและได้รับการอนุมัติที่ต่างกันขึ้นอยู่กับความครบถ้วนของเอกสารและปัจจัยอื่นๆ ด้วยประกอบกัน ซึ่งหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองหรือสถานทูตของออสเตรเลียเป็นผู้มีสิทธิ์ขาดในการพิจารณาให้เรา ดังนั้นเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องประมาณเวลายื่นล่วงหน้าให้ดี เพื่อไม่ให้กระทบแผนการเดินทางของเรา และหากเจ้าหน้าที่ใช้เวลาพิจารณาวีซ่าเรานานกว่าคนอื่นๆ แต่ยังไม่เลยกรอบเวลาที่กำหนด ก็ไม่ใช่ความผิดของเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด เพราะถือว่าแจ้งไว้ให้ผู้สมัครทราบแล้ว**
ตัวอย่างอีเมล์ที่แจ้งว่าวีซ่าเราได้รับการอนุมัติแล้ว

ตัวอย่างข้อมูลในไฟล์แนบที่ส่งมาพร้อมอีเมล์แจ้งการอนุมัติวีซ่า หากเลื่อนไปดูหน้าที่ 3 (ไฟล์นี้มี 8 หน้า) จะเห็นว่าวีซ่าเราเป็นแบบไหน (Single หรือ Multiple) และมีอายุเท่าไหร่ (ดูจาก Visa grant date และ Must not arrive after) ให้เราพิมพ์ไฟล์นี้เก็บไว้ได้เลย เอาไว้แสดงตอนเช็คอินที่สนามบินหรือแสดงตอนไปถึงด่านตรวจคนเข้าเมืองปลายทางครับ

ถึงตรงนี้เป็นอันแสดงว่าเราสามารถเข้าไปท่องเที่ยวที่ประเทศออสเตรเลียได้อย่างถูกกฏหมายแล้ว ขั้นต่อไปคือการจองตั๋วเครื่องบินและโรงแรมรวมถึงเตรียมตัวจัดกระเป๋าไปเที่ยว อันนี้ก็สุดแล้วแต่ความประสงค์ของแต่ละคนครับ จะเห็นครับว่าการยื่นวีซ่าออสเตรเลียแบบออนไลน์นั้นสะดวกและไม่ยากอย่างที่คิดหากเตรียมข้อมูลและเอกสารให้ครบถ้วนก่อนยื่น จากนั้นก็เพียงไปเก็บข้อมูลไบโอเมตริกซ์แล้วก็รอพิจารณาวีซ่าเท่านั้น ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการยื่นวีซ่าที่น่าสนใจอีกทางหนึ่งสำหรับคนที่สนใจไปท่องเที่ยวประเทศออสเตรเลีย…แดนจิงโจ้ครับ
หมายเหตู
รีวิวที่ผมจัดทำขึ้นนี้เป็นเพียงการแสดงขั้นตอนการยื่นวีซ่าออสเตรเลียแบบออนไลน์เพื่อเป็นแนวทางเท่านั้น ขั้นตอนต่างๆ ทางเว็บไซต์มักจะเปลี่่ยนแปลงอยู่เสมอ ควรศึกษาและตรวจสอบให้ดี ในส่วนของการเตรียมเอกสาร การกรอกหรือให้ข้อมูลออนไลน์ ความถูกต้องของข้อมูลส่วนตัวและเอกสารของผู้สมัครนั้น ผู้สมัครจะต้องตรวจสอบให้ดี เพราะต่างคนต่างอาชีพต่างสถานะก็ย่อมมีรายละเอียดต่างกัน อีกทั้งทางผมเองไม่สามารถตอบได้ว่าแต่ละคนต้องใช้เอกสารอะไร มีเงินในบัญชีเท่าไหร่ เพราะผมเองไม่ใช่ผู้ประเมิน เพียงแค่รีวิววิธีการทั่วไปเท่านั้น ส่วนการเก็บข้อมูลไบโอเมตริกซ์ การถูกเรียกสัมภาษณ์ การตรวจสุขภาพ หรือการขอข้อมูลเพิ่มเติมนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลซึ่งหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองหรือสถานทูตของออสเตรเลียจะเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม ตลอดจนระยะเวลาการพิจารณาวีซ่า ประเภทการเข้าออก (single หรือ multiple) และอายุวีซ่าที่ได้รับนั้นหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองหรือสถานทูตของออสเตรเลียเท่านั้นที่เป็นผู้มีสิทธิ์ขาดในการอนุมัติ รวมถึงขั้นตอนและวิธีการรวมถึงระเบียบการต่างๆ ในการยื่นวีซ่านั้น ทางหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองของออสเตรเลียอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการต่างๆ ในการยื่นออนไลน์ได้โดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า จึงขอให้ศึกษาข้อมูลอัพเดตจากเว็บไซต์ทางการของ VFS และหากสมัครไปแล้วควรหมั่นตรวจสอบอีเมล์และข้อความแจ้งเตือนต่างๆ รวมถึงอ่านรายละเอียดให้ดีทุกครั้งครับ เพราะขั้นตอนและการแสดงผลต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
อยากจะบอกว่า เป็นโพสที่รายละเอียดดีมากๆ เข้าใจแบบทุกๆขั้นตอนเลยคะ ขอบคุณมากๆเลยนะคะ
LikeLiked by 1 person
ขอบคุณนะคะ รายละเอียดดีมาก เข้าใจง่าย
LikeLiked by 1 person
ขอบคุณมากเลยนะคะ ได้ประโยน์มากจริงๆค่ะ โดยเฉพาะคนที่ไม่ถนัดภาษาอังกฤษ
LikeLiked by 1 person
It’s hard to find experienced people in this particular subject, however, you sound like
you know what you’re talking about! Thanks
LikeLiked by 1 person
ขอบพระคุณมากนะคะ คำแนะนำและขั้นตอนละเอียดมาก เข้าใจง่ายค่ะ
LikeLiked by 1 person
ขอบคุณมากๆนะคะ ดีงามที่สุดคะ เป็นวิทยาทานให้คนอื่นๆด้วยพราะละเอียดและได้ประโยชน์ด้วยคะ ทีแรกว่าจะจ้างแต่ก็แอบสียดายงินคะ ยังงัยจะลองทำดูคะ
LikeLiked by 1 person
ขอบคุณมากกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกก
LikeLike
ขอบคุณมากๆนะคะ gxHo;bmpkmkomujfuot8t และขอความกรุณาแนะนำเพิ่มเติม กรณีที่ เดินทางร่วมกัน 3 คน คือ สามีอายุ 75 ภรรยา อายุ 72 และหลานชายอายุ 12ปี ทราบว่าจะมีส่วนที่เราจะแจ้งได้ว่าทั้ง 3รายเดินทางพร้อมกัน เพื่อสะดวกในการอนุมัติ/ อ้างอิงข้อมูลต่างๆ/กรณีอายุ 75 ปีต้องตรวจร่างกาย เดิมทั้ง 3 คนเดินทางร่วมกัน แต่ยื่นเอกสารที่ VFS ทุกครั้ง แต่ครั้งต่อไป คืดว่าจะลองขอonlineค่ะ
LikeLike
ขอบคุณมากค่ะ เป็นวิทยาทานได้ดีมาก โดยเฉพาะคนอายุมากที่ต้องทำเอง ขอเรียนถามเพิ่มเติมดังนี้ ต้องการเดินทางร่วมกัน 3 คน ชาย 75 หญิง 72 หลาน 12 ต้องการแจ้ง เจ้าหน้าที่ว่าเราเดินทางร่วมกันเพื่อสะดวกในการพิจารณาอนุมัติ อีกทั้งต้องตรวจร่างกาย มีขั้นตอนการทำอย่างไรบ้างคะ เดิมเคยเดินทางร่วมกัน แต่ใช้วิธียื่นเอกสารที่ VFS แต่ครั้งหลังสุดช้ามาก และเห็นว่าการทำOnlineอาจเร็วและสะดวก ขอบคุณมากค่ะ
LikeLike
Vfs เข้าไปเป็นสมาชิก ก็ยาก ไม่ง่ายกับการเข้าไปทำนัดหมาย
LikeLike