หลังจากที่นอนมาเต็มอิ่มกับรถไฟนอนของรัสเซียมาประมาณ 8 ชั่วโมง ผมก็มาถึงสถานีรถไฟมอสคอฟสกี้ (Moskovsky : Московский) ณ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมืองที่ได้รับสมญานามว่า “The Queen of Europe (ราชินีแห่งยุโรป)” ในเวลาประมาณหกโมงเช้าพอดี
ป้ายสถานีรถไฟมอสคอฟสกี้ (Moskovsky : Московский) นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก
โดยหกโมงเช้าของที่นี่ฟ้ายังไม่สว่างเลยด้วยเพราะว่าเป็นฤดูหนาว กว่าพระอาทิตย์จะขึ้นก็ปาเข้าไปเกือบเก้าโมงเช้าแล้ว มาถึงสถานีรถไฟเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กแล้วผมก็จัดการเข้าห้องน้ำล้างหน้าล้างตาให้เรียบร้อย สิ่งแรกที่ผมรู้สึกเมื่อมาถึงเมืองนี้คือ “อากาศหนาวกว่ามอสโควครับ แต่ไม่มีหิมะ” อาจจะเป็นเพราะว่าเป็นเมืองชายฝั่ง (ติดกับอ่าวฟินแลนด์) และได้รับลมทะเล ทำให้ไม่มีหิมะตก แต่อากาศหนาวแบบที่ว่าหากอยู่นอกตัวอาคารแล้วไม่สามารถถอดถุงมือได้เกิน 2 นาทีเลย หลังจากล้างหน้าล้างตาเสร็จและหาอาหารเช้าลงท้องบริเวณสถานีรถไฟแล้ว เวลาประมาณ 7 โมงเช้าผมก็เดินไปโรงแรม Superhostel 14 pushkinskaya ที่ผมจองไว้ซึ่งอยู่ห่างจากสถานีรถไฟประมาณ 400 เมตร สามารถเดินไปได้ เพื่อที่ผมจะไปฝากกระเป๋าไว้ก่อน และจะได้ออกเที่ยวต่อเลยแล้วค่อยกลับมาเช็คอินตอนเย็น เมื่อเข้าไปถึงก็กดกริ่งหน้าโรงแรมเพื่อให้รีเซพชั่นปิดประตูให้ (ประตูเป็นระบบรีโมต รีเซพชั่นไม่ต้องลงมาเปิดให้ แค่กดปุ่มเปิดประตูที่โต๊ะของเขา ทันสมัยซะด้วย) เมื่อเข้าไปก็พบรีเซพชั่นเป็นป้าคนนึงซึ่งพูดอังกฤษไม่ได้เลย แต่แกอาศัยใช้ Google translate ในคอมพิวเตอร์ของแกแปลให้ผมดูโดยเแกพิมพ์ภาษารัสเซียเข้าไปแล้วให้ผมไปอ่านภาษาอังกฤษที่แกแปลออกมา ซึ่งสรุปใจความคือ “ผมสามารถฝากกระเป๋าได้ แต่ไม่สามารถเช็คอินได้ก่อน 14.00 น.” สำหรับผมไม่มีปัญหา “บ่ เซียง กัง” อยู่แล้ว เพราะแค่หาที่ไว้กระเป๋าเป็นพอ กลับมาตอนเย็นค่อยเช็คอินก็ยังทัน และก็ไม่ลืมที่จะให้แกทำ Visa Register ให้เหมือนกับที่มอสโคว แกบอกว่า “ยินดีทำให้ฟรี แต่ใช้เวลา 2 วันนะ” ผมก็โอเคครับ เพราะเราอยู่นี่ตั้ง 3 วันยังไงก็ทัน
เมื่อฝากกระเป๋าเสร็จแล้วผมดูเวลาก็ประมาณแปดโมงเช้าพอดีผมก็ได้เวลาออกเที่ยวต่อเลยเพื่อไม่ให้เสียเวลา ว่าแล้วก็เดินออกไปยังสถานีเมโทรที่อยู่ติดกับสถานีรถไฟมอสคอฟสกี้ ผมก็กะใช้สูตรเดิมไปซื้อตั๋วเมโทรแบบหลายเที่ยวเพื่อประหยัดเงิน เริ่มแรกก็เดินไปที่เคาน์เตอร์พร้อมกับพูดภาษาอังกฤษไปว่า “may I buy 20 trips ticket please?” ป้าที่เคาน์เตอร์ก็ตอบกลับเป็นภาษาท้องถิ่นซะยาวยืด เหมือนแกไม่รู้ว่าผมฟังไม่รู้เรื่อง จากนั้นมาผมก็แผนสอง พิมพ์ข้อความลงใน Google translate ให้แปลเป็นภาษารัสเซียให้ป้าแกดู แกก็ร่ายยาวมาเป็นภาษารัสเซียอีกรอบ คราวนี้เหมือนจะมีอาการไม่พอใจด้วย ผมจึงตัดสินใจว่า “เออ…ไม่เอาก็ได้ว่ะ” จึงเดินออกมาจากเคาร์เตอร์และมองไปเห็นตู้ขายตั๋วอัตโนมัติตั้งอยู่ เลยลองเข้าไปกดดู “โอ้….สวรรค์ยังเห็นใจลูกเป็ดตัวนี้” ในตู้ขายตั๋วมีเมนูภาษาอังกฤษด้วยครับ ว่าแล้วก็กดไปเรื่อยๆ และพบว่าต้องจ่ายเงินซื้อบัตรเปล่าๆ ก่อน 55 รูเบิล (ประมาณ 33 บาท) ซึ่งบัตรนี้ยังไม่มีเที่ยวเดินทาง เมื่อได้บัตรมาแล้วจึงเอาบัตรนี้ไปวางที่แท่นวางของตู้ขายตั๋วเพื่อเติมเที่ยวเดินทาง ผมเลือกเติมไป 10 เที่ยว สนนราคาอยู่ที่ 290 รูเบิล หรือ 174 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 17.40 บาทเท่านั้น (ถ้าซื้อเที่ยวเดียวราคาเที่ยวละ 50 รูเบิลหรือประมาณ 30 บาท เชียวนะครับ) ไม่ต้องง้อมนุษย์ป้าที่เคาน์เตอร์อีกต่อไป 555+

เครื่องขายตั๋วเมโทรอัตโนมัติในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก
ตัวอย่างบัตรโดยสารเมโทรในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก
เมื่อได้ตั๋วเมโทรมาแล้วผมก็ดำเนินการตามภารกิจเพื่อไปยัเป้าหมายแรกของผมในวันนี้นั่นก็คือพระราชวังปีเตอร์ฮอฟ (Peterhof Palace) หรืออีกชื่อหนึ่งคือพระราชวังฤดูร้อน (แต่ผมดันมาเที่ยวฤดูหนาว 😉 ) โดยการเดินทางไปปีเตอร์ฮอฟนั้นผมต้องใช้การเดินทางสองต่อนั่นคือนั่งเมโทรแล้วไปต่อรถตู้ประจำทาง ผมเริ่มจากนั่งเมโทรต้นทางที่สถานี Ploshchad Vosstaniya (Площадь Восстания) ซึ่งอยู่ติดกับสถานีรถไฟมอสคอฟสกี้ ไป 7 สถานี เพื่อไปลงที่สถานี Avtovo (А́втово) สายที่ 1 (สีแดง) เมื่อเดินออกจากสถานี Avtovo แล้ว ผมก็เดินข้ามฝั่งถนนโดยการลอดอุโมงค์เพื่อไปขึ้นรถตู้ซึ่งสังเกตได้จากจะมีกลุ่มรถตู้สีขาวจอดเรียงรายกันอยู่หลายคันคล้ายกับวินรถตู้บ้านเรา ซึ่งส่วนมากรถทุกคันวิ่งผ่านพระราชวังปีเตอร์ฮอฟทั้งนั้น แต่ป้ายรถตู้เป็นภาษารัสเซียทั้งนั้น ผมก็ใช้เทคนิคพื้นฐานคือเดินตรงไปถามคนขับว่า “ปีเตอร์ฮอฟ” หากเขาพยักหน้าก็เป็นอันถูกต้องสามารถเริ่มธุรกิจกันได้ ค่ารถประมาณ 65 รูเบิล (ประมาณ 40 บาท) จ่ายที่คนขับโดยตรงตอนลงรถ ระยะทางจากวินรถตู้ไปพระราชวังปีเตอร์ฮอฟประมาณ 22 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 30 นาที รถตู้รัสเซียจะคล้ายกับรถตู้ไทยคือจะจอดตามป้ายโดยผู้โดยสารต้องบอกก่อนถึงป้าย ประมาณว่า “จอดป้ายหน้าด้วยนะคร้าบบบ” ระหว่างทางผมก็เปิด Google Map โดยตลอดเพราะกลัวนั่งเลย แต่หากใครจะใช้วิธีผมกได้คือหากวิ่งมาได้สักประมาณ 25 นาทีก็สังเกตด้านซ้ายไว้ ถ้าเห็นโบสถ์ออธอดอกซ์ขนาดใหญ่ทางซ้ายมือก็แสดงว่าใกล้ถึงปีเตอร์ฮอฟแล้ว แล้วก็เตรียมตัวเดินไปรอที่ประตู พร้อมชี้บอกคนขับว่าต้องการลงป้ายหน้าเค้าก็จะจอดให้ลงตามนั้น แต่อย่าลืมจ่ายค่าโดยสารก่อนลงนะครับ 🙂
โบสถ์ออธอดอกซ์ซึ่งเป็นจุดสังเกตก่อนถึงพระราชวังปีเตอร์ฮอฟ
หลังจากที่ลงจากรถตู้แล้วผมก็เดินตามทางต่อไปอีกประมาณ 300 เมตร ก็จะเจอพระราชวังปีเตอร์ฮอฟตั้งอยู่ทางขวามือ รู้สึกว่ามาถึงซะที เล่นเอาเหนื่อยเหมือนกันนะกว่าจะหิ้วสังขารจากเมืองไทยมาถึงที่นี่ได้ และอากาศตอนนั้นเย็นมาก รู้สึกยิ่งออกมานอกเมืองยิ่งหนาวกว่าในเมืองซะอีก ขนาดตอนนั้นปาเข้าไปเก้าโมงกว่าแล้ว แต่ก็ไม่หวั่นครับของสวยๆ งามๆ รอเราอยู่ข้างหน้าเราแล้ว
พระราชวังฤดูร้อนปีเตอร์ฮอฟ เป็นอีกหนึ่งมรดกโลกของรัสเซียที่ประกาศโดยองค์การยูเนสโก ถูกสร้างขึ้นโดยรับสั่งของพระเจ้าปีเตอร์มหาราชเมื่อปี ค.ศ.1705 เพื่อประกาศความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรรัสเซียและเพื่อที่จะเอาชนะความงามของพระราชวังแวร์ซายด์ของฝรั่งเศส โดยพระองค์ได้มอบหมายให้ช่างฝีมือและสถาปนิกนับสิบคนในการรังสรรค์พระราชวังแห่งนี้ ใช้เวลาสร้างร่วม 10 ปี พระเจ้าปีเตอร์มหาราชทรงใช้พระราชวังแห่งนี้เป็นที่ประทับในการออกล่าสัตว์ในช่วงฤดูร้อน อันเป็นที่มาของชื่อ “พระราชวังฤดูร้อน” ตัวบริเวณประกอบด้วย 3 ส่วนหลักคือสวนด้านบน (Upper garden) ที่เชื่อมต่อกับทางเข้าหลัก พระราชวัง (Grand palace) และสวนด้านล่าง (Lower garden) อันมีสวนน้ำพุและหุ่นรูปปั้นทองเหลืองอันมีลือชื่อและมีคลองเชื่อมต่อออกสู่อ่าวฟินแลนด์ ที่สำคัญปีกด้านซ้ายของพระราชวังแห่งนี้เคยเป็นที่พระทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จเยือนรัสเซียเมื่อปี ค.ศ. 1897 อีกด้วย ปัจจุบันอาคารพระราชวังเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงวัตถุโบราณทางประวัติศาสตร์ให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมความงามของของวัตถุล้ำค่าและความอลังการของสถาปัตยกรรม
พระราชวังปีเตอร์ฮอฟเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมทุกวันเวลา 9.00 น. ถึง 19.00 น. (วันเสาร์เปิดถึง 22.00 น.) ค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์อยู่ที่คนละ 550 รูเบิล (ประมาณ 330 บาท)
เมื่อเข้าไปในบริเวณรั้วของปีเตอร์ฮอฟแล้ว ตอนนั้นเวลายังถือว่าเช้าอยู่ ทำให้บริเวณสวนด้านบนที่ติดกับประตูทางเข้านั้นแทบไม่มีคนอยู่เลย และอาจเป็นเพราะเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ทำให้ใบไม้ร่วงโรยลง๗ึงอาจจะเป็นสาเหตุให้คนไม่เข้ามาถ่ายรูปสวนด้านบนนี่เท่าไหร่ แต่ผมก็กลับมองว่าสวนด้านบนแบบไม่มีใบไม้นั้นแปลกตาไปอีกแบบ ว่าแล้วตามเก็บภาพเล็กๆ น้อยๆ ของบริเวณสวนด้านบนก่อนเลย ซึ่งสวนด้านบนแห่งนี้ตกแต่งด้วยพรรณไม้ต่างๆ ที่มีฉากหลังเป็นพระราชวังได้อย่างงดงาม แต่ก็ถือเป็นแค่การเรียกน้ำย่อยเท่านั้น เพราะไฮไลต์ของพระราชวังปีเตอร์ฮอฟนั้นอยู่ที่สวนด้านล่างและภายในพระราชวัง เมื่อเรียกน้ำย่อยบริเวณสวนด้านบนที่ผมใช้เวลาไม่นานไไปแล้ว ผมก็เดินอ้อมตัวพระราชวังเพื่อไปชมสวนด้านล่าง ซึ่งหากมาเยือนพระราชวังปีเตอร์ฮอฟในช่วงเดือนมีนาคมถึงตุลาคมแล้ว เวลา 11.00 น.ถือเป็นนาทีทองเลยทีเดียว เพราะเป็นช่วงเวลาที่สวนน้ำพุบริเวณสวนด้านล่างซึ่งเป็นจุดขายของพระราชวังปีเตอร์ฮอฟเปิดแสดงพอดี โดยแนะนำว่าสักประมาณ 10.30 น.ก็ควรไปรอได้แล้ว เพราะบริเวณใกล้ๆ จะถูกจับจองเต็มอย่างรวดเร็ว ว่ากันว่าตอนน้ำพุเริ่มแสดงและมีดนตรีประกอบนั้นมันเปรียบได้กับเราได้หลุดไปอยู่ในดินแดนแห่งเทพนิยายไม่มีผิด แต่หากไม่ได้มาในช่วงเวลาดังกล่าวก็ไม่ได้ถือว่าพลาดมากนัก เพราะพระราชวังปีเตอร์ฮอฟในฤดูหนาวก็สวยไม่แพ้กัน เนื่องจากอาณาบริเวณจะถูกปกคลุมด้วยสีขาวของหิมะตัดกับสีทองของรูปปั้นทองเหลืองให้ความรู้สึกโรแมนติกแบบดินแดนในเทพนิยายแบบสุดๆ กันเลยทีเดียว อีกทั้งสวนด้านล่างนี้อยู่ติดกับทะเลที่เป็นปากอ่าวออกไปสู่อ่าวฟินแลนด์ การได้ชมวิวทะเลที่มีฉากหลังเป็นพระราชวังปีเตอร์ฮอฟอันอลังการ นับเป็นบุญตาอขงผมเลยทีเดียว ไม่เสียแรงที่บินข้ามน้ำข้ามทะเลมาต่อรถไฟ แล้วต่อด้วยรถตู้จนมาถึงที่แห่งนี้ เห็นแล้วหายเหนื่อยจริงๆ
ภาพพระราชวังปีเตอร์ฮอฟเมื่อมองจากสวนด้านบน
บริเวณสวนด้านบนติดถนนใหญ่ในฤดูหนาว ใบไม้ร่วง ให้บรรยากาศแบบเหงาๆ
ทางเดินบริเวณสวนด้านล่าง (บอกแล้วบ้าถ่ายทางเดิน ถ่ายมันทุกที่)
ประภาคาร (Lighthouse) บริเวณติดทะเลในสวนด้านล่าง
ภาพพาโนราม่าของบริเวณเลียบชายฝั่งติดทะเลของสวนด้านล่าง
เมื่อผมเก็บบรรยากาศทั้งสวนด้านบนและสวนด้านล่างจนหนำใจแล้ว เวลาประมาณ 11.00 น. ผมก็ขอพาตัวเองเข้าไปชมบรรยากาศภายในและงานศิลปะรวมถึงสถาปัตยกรรมด้านในนพระราชวังปีเตอร์ฮอฟ โดยตั๋วเข้าชมนั้นสามารถซื้อได้ที่ทางเข้าและนำสัมภาระหรือกระเป๋าไปฝากไว้ที่ตู้ล็อกเกอร์ซึ่งมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลให้ แต่ภายในพระราชวังปีเตอร์ฮอฟแห่งนี้ห้ามถ่ายภาพโดยเด็ดขาด ดังนั้นผมจึงต้องฝากกล้องรวมถึงแท็บเล็ตไว้ที่ตู้ล็อกเกอร์ด้วย (ถึงแม้จะอนุญาตให้พกโทรศัพท์เข้าไปได้ ซึ่งผมสามารถแอบเอาขึ้นมาถ่ายรูปก็ได้ แต่กฏก็ต้องเป็นกฏครับ เราต้องเคารพกติกาของสถานที่ จึงไม่สามารถถ่ายรูปมาฝากได้จริงๆ เสียใจมาก แต่ถึงยังไงก็ควรลองไปดูเองครับ เพราะรูปที่ถ่ายมาเป็นล้านรูปก็ไม่สามารถบรรยายความรู้สึกได้เท่ากับการไปชมเองแน่นอนครับ) ภายในพระราชวังนั้นผมพบกับงานสถาปัตยกรรมอันสวยงามและข้าวของเครื่องใช้สำหรับชนชั้นสูงที่ถูกจัดแสดงไว้ ซึ่งข้าวของเครื่องใช้เหล่านั้นออกแบบมาอย่างปราณีต เน้นสีทองที่แสดงถึงความหรูหรา และมีการประดับด้วยอัญมณีหรืองานจิตรกรรมอย่างงดงามหาที่เปรียบมิได้ รัสเซียทำอะไรแต่ละอย่างนั้นอลังการจริงๆ จากที่แต่ก่อนได้ยินแค่คำกล่าวหรือได้อ่านจากอินเตอร์เน็ต พอมาเจอกับตาตัวเองกลับรู้สึกว่ามันยิ่งกว่าที่เราจินตนาการไว้อีกครับ
ภาพพระราชวังปีเตอร์ฮอฟเมื่อมองจากสวนด้านล่าง
คลองที่เชื่อมพระราชวังปีเตอร์ฮอฟบริเวณรูปปั้นทองเหลืองมุ่งออกสู่อ่าวฟินแลนด์
ค่าสินสอดเข้าชมพระราชวัปีเตอร์ฮอฟ 550 รูเบิล (ประมาณ 330 บาท)
ผมใช้เวลาอยู่ในพระราชวังปีเตอร์ฮอฟประมาณเกือบ 3 ชั่วโมงจนลืมหิว (อีกแล้ว) เนื่องจากค่าเข้าแพงจึงต้องดูให้คุ้ม (เขียมไปป่ะ) ไม่ใช่หรอกครับ เพราะงานศิลปะและข้าวของแต่ละชิ้นรวมถึงสถาปัตยกรรมภายในพระราชวังที่สวยงามมันทำให้รู้สึกคุ้มค่าที่ถ่อสังขารมาจนถึงที่นี่ รู้สึกภูมิใจที่ตัวเราเองก็ทำได้ จนความหิวทำอะไรไม่ได้ แต่พอออกมาจากตัวพระราชวังเท่านั้นแหละครับ ความหิวก็มาเยือนทันที ซึ่งแถวนั้นไม่ค่อยมีอะไรให้กินเลยต้องเข้าเมืองอย่างเดียว โชคดีที่พก Snack นิดๆ หน่อยๆ ติดกระเป๋าไป เลยหยิบขึ้นมารองท้องไปก่อนได้ รอดตัวไป
เวลาประมาณบ่ายสองโมงผมก็ขอโบกมือลาปีเตอร์ฮอฟ เพื่อไปสานต่อแผนการเที่ยวของวันนี้ให้เสร็จ โดยจุดหมายต่อไปของผมคือมหาวิหารคาซานซึ่งตั้งอยู่ใจกลางของนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก โดยการเดินทางไปมหาวิหารคาซานจากปีเตอร์ฮอฟนั้นทำได้โดยนั่งรถตู้เข้าเมืองไปต่อเมโทร ผมก็ใช้วิธีเดินออกมาจากปีเตอร์ฮอฟแล้วไปรอรถตู้ที่ป้ายรถเมล์ฝั่งตรงข้ามกับที่เราลง เมื่อเห็นรถตู้ผ่านมาก็โบก แล้วก็ถามง่ายๆ ว่า “เมโทร” ถ้าคนขับเค้าพยักหน้าก็เป็นอันตกลง (ส่วนมากรถทุกคันไปสุดสายที่สถานีเมโทร Avtovo เหมือนขามาอยู่แล้ว) ใช้เวลาประมาณ 30 นาทีก็มาถึงสถานีเมโทรพร้อมทั้งจ่ายค่าโดยสาร 65 รูเบิล (ประมาณ 40 บาท) เหมือนขาไป เมื่อมาลงที่สถานีเมโทรได้แล้ว จากนี้ไปก็ไม่ใช่เรื่องยากในการไปวิหารคาซาน ผมก็นั่งเมโทรต่อไปอีก 4 สถานีเพื่อไปลงสถานี Tekhnologichesky Institut (Технологический институт) เพื่อเปลี่ยนขบวนเป็นสายที่ 2 (สีน้ำเงิน) แล้วนั่งต่อไปอีก 2 สถานีเพื่อลงสถานี Nevsky Prospekt (Невский проспект) จากนั้นให้ออกที่ทางออกฝั่งหัวขบวนรถจะไปโผล่ที่ริมคลองและวิหารคาซานจะตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ตรงหน้าผมพอดี
มหาวิหารคาซานเป็นโบสถ์แบบออธอดอกซ์ตั้งอยู่บนถนนเนฟสกี้ใจกลางนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก แต่เดิมเป็นเพียงโบสถ์เล็กๆ สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1708 โดยพระเจ้าปีเตอร์มหาราช ต่อมาสมัยพระเจ้าพอลที่ 1 ได้ทรงมีรับสั่งให้ทำการปรับปรุงวิหารแห่งนี้ใหม่ให้ยิ่งใหญ่ขึ้นในปี ค.ศ. 1799 เนื่องจากพระองค์ได้เสด็จประพาสอิตาลีและทรงพอพระทัยในความความของสถาปัตยกรรมโรมันเป็นอย่างมาก จึงรับสั่งให้นำรูปแบบการก่อสร้างนั้นมาประยุกต์เข้ากับวิหารคาซาน ใช้เวลาในการก่อสร้างนานถึง 11 ปี โดยสถาปนิก 3 คนออกแบบร่วมกันคือชาร์ล คาเมรอน (Charles Cameron) โธมัส เดอ โธมอน (Thomas De Thomom) และ ปิเอโตร กอนซาโก (Pietro Gonzago) แล้วเสร็จในปี ค.ศ. 1811 ภายในเป็นที่ประดิษฐานของไอคอนของพระแม่มารีแห่งคาซาน (Our Lady of Kazan Icon) ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวเมือง นอกจากนี้ภายในยังประดับประดาไปด้วยภาพจิตรกรรมและงานประติมากรรมอย่างวิจิตรงดงาม มหาวิหารคาซานเปิดให้นักท่องเที่ยวและผู้ศรัทธาเข้าชมได้ฟรีทุกวัน ตั้งแต่ 8.30 น. ถึง 20.00 น.
ภายในวิหารคาซานในวันที่ผมไปนั้นเหมือนมีการประกอบพิธีทางศาสนาคริสต์ นิกายออธอดอกซ์กันอยู่ สังเกตได้จากมีผู้คนยืนเรียงแถวกันเพื่อนำเทียนเข้าไปเคารพสักการะสัญลักษณ์ทางศาสนากันอยู่ เป็นภาพที่แปลกตาจริงๆ สำหรับชาวพุทธอย่างผม และเป็นภาพที่หาไม่ได้ง่ายๆ ในประเทศไทยเราแน่นอน บรรยากาศภายในวิหารวันนั้นจึงเต็มไปด้วยพลังแห่งความศรัทธาของคริสตศาสนิกชนชาวรัสเซียเป็นอย่างมาก อีกทั้งภาพจิตรกรรมและสภาปัตยกรรมภายในวิหารก็เป็นงานที่วิจิตรงดงามที่เล่าเรื่องราวของศาสนจักรตามความเชื่อได้เป็นอย่างดี แหม่…เห็นแล้วรู้สึกไม่เสียแรงที่มาจนถึงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก
วิหารคาซานตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้าเมือเดินออกมาจากสถานีเมโทร
มุมตึกเก๋ๆ ตรงข้ามวิหารคาซาน
บริเวณด้านหน้าวิหารคาซาน
ผู้คนกำลังเข้าแถวประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
บรรยากาศภายในวิหารคาซาน
ภายในวิหารคาซานนั้นไม่ได้กว้างใหญ่มากครับ ผมใช้เวลากับที่นี่ประมาณหนึ่งชั่วโมง ขอบอกว่าตอนนั้นยังไม่ได้กินอะไรเลยมัวแต่จะเที่ยวจนลืมอีกแล้ว เล่นเอาหิวซะจนไม่หิวแล้ว (เอ๊ะ…ยังไง) ซึ่งไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว รวบไปกินมื้อเย็นทีเดียวเลยละกัน ว่าแล้วเวลาประมาณสี่โมงเย็นตะวันยังไม่ตกดิน ผมก็ขอเดินข้ามฝั่งเพื่อไปเข้าชมโบสถ์หยดเลือด (The Christ the savior on spilled blood) ซึ่งโบสถ์นี้สามารถมองเห็นจากมหาวิหารคาซานได้ (หากหันหน้าเข้าวิหารคาซาน โบสถ์หยดเลือดจะอยู่ด้านหลังเราพอดี) โดยเมื่อผมเดินออกมาด้านหน้าวิหารแล้วมองไปตามแนวคลองจะเจอโบสถ์แห่งหยดเลือดตั้งอยู่ตรงหน้าห่างออกไปประมาณ 500 เมตร ซึ่งสามารถเดินเรียบคลองไปได้เลย และจากวิวทิวทัศน์ของคลองนี้ที่ไหลผ่านกลางเมืองคล้ายกับเมืองเวนิสของอิตาลี ทำให้เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กได้รับการขนานนามว่า “เวนิสแห่งรัสเซีย” อีกด้วย
โบสถ์แห่งหยดเลือดสร้างขึ้นโดยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 3 ในปี ค.ศ. 1883 เพื่อเป็นอณุสรณ์แก่พระบิดา (พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 2) ที่ถูกลอบปลงพระชนม์จากการที่พระองค์ทรงประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อสร้างเสรีภาพแก่ชาวรัสเซียทำให้มีผู้ไม่พอใจ ซึ่งบริเวณที่ทรงถูกลอบปลงพระชนม์ก็คือสถานที่ตั้งของโบสถ์นั่นเอง ตัวโบสถ์ใช้เวลาสร้างถึง 20 ปีด้วยความพิถีพิถันและมีนัยยะ เช่นยอดโดมที่สูง 81 เมตรหมายถึงพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 2 ถูกลอบปลงพระชนม์ในปี ค.ศ. 1881 โบสถ์ถูกออกแบบด้วยสถาปนิกชาวรัสเซียตามแบบศิลปะบาร็อค ตกแต่งด้วยกระเบื้องโมเสก อัญมณี และภาพเขียนจิตรกรรมอย่างวิจิตรงดงามไม่แพ้วิหารเซนต์เบซิลในมอสโควเลย โบสถ์แห่งหยดเลือดนี้เป็นสถานที่สำคัญที่ผู้มาเยือนนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง เพราะหากไม่มาที่นี่ก็เปรียบเหมือนมาไปถึงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก
โบสถ์แห่งหยดเลือดเปิดให้นักท่องเที่ยวนักท่องเที่ยวเข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 10.30 น. ถึง 18.00 น. (ยกเว้นวันพุธ) ค่าบัตรเข้าชมอยู่ที่คนละ 250 รูเบิล (ประมาณ 150 บาท)
เมื่อหันหลังให้วิหารคาซานและมองไปทางคลองจะเจอโบสถ์แห่งหยดเลือดอยู่สุดทางพอดี
มุมใกล้ๆ ของโบสถ์แห่งหยดเลือด
มาถ่ายรูปพร้อมข้าซะดีๆ เจ้าโบสถ์หยดเลือด
ตั๋วเข้าชมโบสถ์แห่งหยดเลือด 250 รูเบิล (ประมาณ 150 บาท)
สถาปัตยกรรมและประติมากรรมภายในโบสถ์แห่งหยดเลือด